อุโบสถ

พระพุทธรูปและโบราณวัตถุ

พระพุทธเทววิลาศ (หลวงพ่อขาว): พระพุทธปฏิมาประธานในพระอุโบสถ สลักด้วยศิลายวง (ขาว) สีขาวบริสุทธิ์ ปางมารวิชัย หน้าพระเพลากว้าง ๑๕ นิ้ว สูง ๑๙ นิ้ว (หนา ๘ นิ้ว พระอังสา (ไหล่) ๙ นิ้ว รอบพระอุระ (อก) ๑๘ นิ้ว) ลักษณะมีพระพักต์กลม พระเนตรเหลือบต่ำ มีพระศกขมวดก้น มีไรพระศก พระรัศมีรูปเปลวเพลิงซึ่งสามารถถอดออกได้ ครองจีวรห่มเฉียง ชายสังฆาติเป็นลายเขี้ยวตะขาบ พระหัตถ์ซ้ายวางบนพระเพลา พระหัตถ์ขวาวางบนพระชานุ ประทับนั่งขัดสมาธิเพชร บนกลีบดอกบัวหงาย ไม่ทราบประวัติการสร้างหรือที่มา ปรากฏแต่เพียงว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดฯ ให้อัญเชิญมาจากพระบรมมหาราชวัง ประดิษฐานอยู่เหนือเวชยันต์บุษบก เดิมเรียกว่า หลวงพ่อขาว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเฉลิมพระนามว่า พระพุทธเทววิลาส ตามหนังสือราชเลขาธิการที่ รล.๐๐๐๒/๒๕๒๒ ลงวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๑๔
พระพุทธรูปปางห้ามสมุทร: เป็นพระพุทธรูปทองเหลือง ปางห้ามสมุทรสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นพระพักต์รูปไข่ เนตรเหลือบต่ำ พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์อมยิ้ม ทรงเครื่องศิราภรณ์ยอดมงกุฎ ทรงกรองศอ ทับทรวง พาหุรัด สองพระหัตถ์ยกเสมอบั้นพระองค์ ข้อพระกรห้อยสังวาลย์ ชายผ้าตกแต่งลายนกหางหงส์ รองพระบาทเชิงงอน ยืนบนฐานปัทมาสน์มีฉัตรทองปรุ ๕ ชั้น ประดิษฐานอยู่เบื้องหน้าด้านขวาและด้านซ้ายของพระพุทธเทววิลาสในพระอุโบสถ มีข้อสันนิษฐานว่าเป็นสัญลักษณ์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ (พระองค์เจ้าหญิงวิลาส)
เวชยันต์บุษบก(บุษบกท้ายเกริน): เป็นแท่นประดิษฐานพระพุทธเทววิลาศ ทำจากปูนและไม้แกะสลัก โดยจำลองแบบจากพระแท่นเวชยันต์บุษบกของพระสักกะเทวราช หรือพระอินทร์ ที่มีลักษณะอ่อนช้อยงดงาม ตามที่ปรากฏอยู่ในพระสูตร ตัวงานศิลป์แสดงถึงฝีมือเชิงช่างสมัยรัตนโกสินธ์ผ่านลวดลายอันวิจิตร รอบๆ ประดับลายเป็นรูปเทพพนมและครุฑ หล่อด้วยดีบุกปิดทอง ประดับด้วยกระจกเกรียบลวดลายประณีตละเอียดบรรจงมาก ด้านข้างวางเศวตฉัตร ๕ ชั้น ซึ่งมีการสันนิษฐานว่าเป็นเครื่องแสดงพระอิสริยายศของกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ (พระองค์หญิงวิลาศฯ) ผู้เป็นองค์อุปถัมภ์วัดเทพธิดาราม เวชยันต์บุษบกและเศวตฉัตร ๕ ชั้นนี้ถือเป็นเอกลักษณ์ของวัดเทพธิดาราม และได้ถูกนำมาใช้เป็นตราสัญลักษณ์ของวัดและมูลนิธิวัดเทพธิดาราม
ตุ๊กตาศิลาหญิงไทย: หมู่รูปศิลาวัดเทพธิดารามนอกจากเป็นตุ้กตาจีนรูปสัตว์และคน ยังมีตุ๊กตาหญิงไทยที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล่าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นพร้อมกันเพื่อประดับพระอาราม ประติมากรรมรูปสตรีไทยเหล่านี้แสดงอิริยาบถแตกต่างกัน บ้างเป็นแม่กับลูก บ้างเป็นสตรีชาววัง ดังจะเห็นได้จากองค์ประกอบและรายละเอียดที่ช่างได้ใส่ประกอบตุ๊กตาแต่ละตัวเพื่อบอกเล่าเรื่องราว วิถีชีวิตของผู้คนในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินธ์



โครงการบริหารจัดการองค์ความรู้ทางวัฒนธรรมวัดเทพธิดาราม จัดทำโดยมูลนิธิเทพธิดาราม

Copyright © 2024. All Rights Reserved.