สถาปัตยกรรม
กุฏิของสุนทรภู่ คือ หมู่กุฏิคณะ ๗ หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าคณะสุนทรภู่ ตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือของวัด ภายในกุฏิมีห้องกว้าง ๒.๕๐ เมตร ยาว ๖ เมตร ซึ่งเชื่อกันว่า สุนทรภู่เคยใช้เป็นที่จำวัด และแต่งวรรณกรรม
กุฏิสุนทรภู่มีลักษณะเหมือนกับกุฏิอื่นๆในวัดเทพธิดารามที่สร้างมาแต่เดิม กล่าวคือมีลักษณะคล้ายเรือนทรงไทย ปลูกเป็นหลังยาวๆ แล้วกั้นฝาประจันแบ่งเป็นห้องๆ เพื่อให้พระภิกษุ หรือสามเณร อยู่ห้องละองค์ ตามวินัยบัญญัติ กุฏิในวัดเทพธิดารามมักจะปลูกขึ้นเป็นหมู่ โดยหันด้านหน้าเข้าหากัน มีชานนอกเป็นพื้นโล่ง เชื่อมถึงหน้ากุฏิทุกหลัง พื้นที่ตรงกลางชานนอกมักสร้างเรือนโถงขึ้น หลังหนึ่งเรียกว่า “หอฉัน” สำหรับพระภิกษุ และสามเณร ปฏิบัติภัตกิจแต่ละวัน กุฏิที่ปลูกสร้างเป็นลักษณะดังกล่าวนี้เรียกโดยทั่วไปว่า “คณะหมู่” นิยมสร้างขึ้นให้เป็นที่อยู่ สำหรับคณะสงฆ์ฝ่ายคันถธุระ คือ คณะสงฆ์ที่เล่าเรียนพระคัมภีร์ หรือการศึกษาพระปริยัติธรรม
นอกจากนี้ตามคำบอกเล่าของพระเทพวิสุทธิเมธี (แผ่ว ปรกฺกโม) เจ้าอาวาสวัดเทพธิดารามวรวิหาร รูปที่ ๑๑ เดิมทีกุฏิวัดเทพธิดารามมีความพิเศษที่หน้าต่างของกุฏิแต่ละหลังในคณะจะตรงกัน สันนิษฐานว่าเพื่อให้พระในคณะสามารถเห็นกันโดยตลอด เพื่อจะได้คอยสอดส่องดูพฤติกรรมของพระด้วยกัน แต่ต่อมาเมื่อมีการซ่อมแซมกุฏิในคณะต่างๆ ทำให้บานหน้าต่างของแต่ละกุฏิไม่ได้อยู่ในแนวเดียวกันอีก
ลักษณะเด่นอีกประการของคณะ๗ คือประตูเข้าคณะที่มีลักษณะผสมผสานศิลปะไทย จีน และฝรั่งเข้าด้วยกัน จากการบูรณะปฏิสังขรและดูแลรักษาของทางวัดกุฏิสุนทรภู่และอาณาบริเวณโดยรอบคณะ๗ ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น ประจำปี ๒๕๓๗ จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์